บุคคลสัญชาติไทยที่จดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติเยอรมัน และมีความประสงค์ที่จะนำบุตรที่เกิดจาก คู่ชีวิตคนเดิมไปพำนักอาศัยและศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี จะต้องนำเอกสารมาแปลเป็นภาษาเยอรมัน และยื่นรับรองเอกสารภาษาไทยไม่ปลอมแปลงที่สถานทูตเยอรมันก่อน แล้วนำเอกสารภาษาไทยตัวจริงพร้อมคำแปลภาษาเยอรมัน ไปยื่นขอวีซ่าที่ VFS Global โดยต้องแนบสำเนาหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติเยอรมันด้วย
เอกสารที่ต้องใช้มีดังต่อไปนี้
กรณีที่มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดาของเด็ก
- สูติบัตรของบุตร
- สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ทร.14/1) ซึ่งต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกให้ ในกรณีที่ใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ทร.14/1) ทางสถานทูตเยอรมันแนะนำ ให้ขอคัด ณ สำนักทะเบียนเขต/อำเภอที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือ สำนักทะเบียนกลางเท่านั้น
- หนังสือรับรองเรื่องอำนาจการปกครองบุตร ต้องระบุว่าบุตรอยู่ในอำนาจปกครองของมารดาแต่เพียงผู้เดียวและบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรแต่อย่างใด เอกสารมีอายุ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกให้
- ใบเปลี่ยนชื่อตัว (ช.3) หรือชื่อสกุล (ช.1, ช.4 หรือ ช.5) ของบุตรหรือบิดา-มารดา (ในกรณีที่บุตรหรือบิดา-มารดาเคยเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล)
- ใบมรณบัตร หรือ แบบรับรองรายการทะเบียนคนตาย (ท.ร.4/ก) (กรณีบิดาเสียชีวิต)
กรณีที่มารดาจดทะเบียนหย่ากับบิดาของเด็กแล้ว
- สูติบัตรของบุตร
- ทะเบียนบ้านหรือแบบรับรองทะเบียนราษฎร ทร.14/1 ของบุตร กรณีที่ใช้แบบรับรองรายการราษฎร (ทร.14/1) ทางสถานทูตเยอรมันแนะนำ ให้ไปขอคัดที่อำเภอ/สำนักงานเขต ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือ ที่สำนักทะเบียนกลางเท่านั้น
- หลักฐานแสดงว่าอำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดา (แล้วแต่กรณี เช่น ทะเบียนการหย่าพร้อมบันทึก (คร.6), คำพิพากษาศาล ฯลฯ)
- ใบเปลี่ยนชื่อตัว (ช.3) หรือ ชื่อสกุล (ช.1, ช.4 หรือ ช.5) ของบุตรหรือบิดา-มารดา (กรณีที่บุตรหรือบิดา-มารดาเคยเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล)
หมายเหตุ: นอกจากเอกสารดังกล่าว ทางสถานทูตเยอรมัน/ด่านตรวจคนเข้าเมือง อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมจึงควรติดต่อสอบถามเรื่อง เอกสาร ที่สถานทูตเยอรมัน/ด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ เมืองที่พำนักอยู่อีกครั้ง
หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม (ติดต่อเรา)